พาไปชม..พระราชวังสนามจันทร์ (2)

มาต่อกันเลยนะคะ ^^

DSC06168

DSC06171

พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรก สร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น แบบตะวันตก แต่ได้ดัดแปลงแบบให้เหมาะสมกับเมืองร้อน มีช่องระบายลมและระเบียงลูกกรงโดยรอบฉลุสลักลวดลายอย่างประณีตงดงาม พระที่นั่งชั้นบนประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ซึ่งยังมีป้ายชื่อปรากฎอยู่ คือ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องภูษา ห้องเสวย และห้องพระเจ้า (หรือห้องตัดผม) ซึ่งมีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาและเป็นที่ประดิษฐานเศวตฉัตร มีบานไม้แกะสลักเป็นรูปพานพุ่มเทพพนม และมีจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือของพระยาอนุศาสน์จิตรกร พระที่นั่งองค์นี้เป็นศาลากลางจังหวัด นานหลายสิบปี ( ขอบคุณข้อมูลจาก พระราชวังสนามจันทร์ งามโรแมนติก )

พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับ (โดยเฉพาะก่อนเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลราชย์สมบัติ จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๕๘) ที่ทรงพระอักษร ที่เสด็จออกขุนนาง ที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ มากกว่าพระที่นั่งและพระตำหนักองค์อื่น ๆ ( ขอบคุณข้อมูลจาก แหล่งเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ )

DSC06173

พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี คือพระที่นั่งหลังย่อมอยู่ติดกับพระที่นั่งพิมานปฐมทางด้านทิศใต้ มีลักษณะเป็นตึกสองชั้นรูปตัวแอล ประดับลวดลายไม้ฉลุเหมือนกับพระที่นั่งพิมานปฐม ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในในสมัยนั้น นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งยังเคยเป็นที่ทำการของอัยการจังหวัดนครปฐม แต่ปัจจุบันทางจังหวัดได้ส่งคืนแก่กรมศิลปากรแล้ว ( ขอบคุณข้อมูลจาก แหล่งการเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ )

DSC06177

DSC06178

พระที่นั่งวัชรีรมยา พระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นทีหลัง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นพระที่นั้งทรงไทยสองชั้น หลังคามีลักษณะเป็น ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบทำนองเดียวกับหลังคาพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง มีคันทวย ช่อฟ้า ใบระกา นาคสดุ้ง และหางหงส์งดงามมาก ทางทิศใต้มีมุขเด็ดแกะสลักเป็นเข็มวชิราวุธอยู่ภายในวงรัศมีเปลวเพลิง มีลายกนกลงรักปิดทอง พื้นประดับกระจกสีน้ำเงิน ล้อมรอบระหว่างเสาหน้ามุข มีสาหร่ายรวงผึ้งห้อยลงมา หน้าบันทิศตะวันออกเป็นรูปช้างเอราวัณ มีสัปคัปลายทองตามแบบช้างทรงของกษัตราธิราช ข้างในสัปคัปช้างเป็นเข็มวชิราวุธ หน้าบันด้านตะวันตกเหมือนหน้าบันด้านมุขเด็ด ( ขอบคุณข้อมูลจาก พระราชวังสนามจันทร์ งามโรแมนติก )

DSC06196

DSC06195

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งฉลองพระองค์ชุดเสือป่าราบหลวงอย่างเก่าแบบทรงม้า เป็นฝีมือของช่างจากกรมศิลปากร ส่วนราชการจังหวัดฯ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้กลางพระราชวังสนามจันทร์ หลังเทวาลัยคเณศร์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2525 ( ขอบคุณข้อมูลจาก wikipedia )

DSC06207

DSC06209

DSC06211

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักที่มีลักษณะคล้ายปราสาทขนาดย่อม ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรเนอซองส์ (Renaissance) ของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ (Half Timbered) ของอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ขึ้นราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักว่า “พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์“ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๐

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักสองชั้น ทาสีไข่ไก่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมี ห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง ชั้นล่างทางทิศตะวันตกเป็นห้องรอเฝ้าฯ และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราว ในการออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้เป็นที่ประทับในฐานะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการเสือป่า เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์ และพระองค์โปรดที่จะประทับตลอดช่วงปลายรัชกาล เมื่อเสด็จฯ ยังพระราชวังสนามจันทร์ ( ขอบคุณข้อมูลจาก แหล่งเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ )

DSC06210

อนุสาวรีย์ย่าเหล ตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ เป็นอนุสาวรีย์หล่อด้วยโลหะขนาดเท่าสุนัขจริง ถือเป็นอนุสาวรีย์สุนัขแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ ย่าเหลเป็นสุนัขพันทางขนยาวปุกปุย สีขาวสลับน้ำตาล เกิดในเรือนจำนครปฐม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบเข้าเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปตรวจเรือนจำ พระองค์ทรงพอพระหฤทัยในความเฉลียวฉลาดขนาดมีรับสั่งขอจากรองอำมาตย์เอกพุทธ เกษตรานุรักษ์ (โพธิ์ เคหะนันท์) ครั้งดำรงตำแหน่งพะทำมะรงเรือนจำ มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงชัยอาญา แล้วทรงนำไปเลี้ยงในพระราชสำนัก พระราชทานชื่อให้ว่า ย่าเหล (ขอบคุณข้อมูลจาก ประวัติ พระราชวังสนามจันทร์ )

สำหรับชื่อย่าเหลนั้น พระองค์ทรงตั้งจากชื่อตัวละครเอก เอมิล ยาร์เลต์ (Emile Jarlet) จากบทละครฝรั่งเศสเรื่อง “My Friend Jarlet” ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นบทละครภาษาไทย ชื่อ “มิตรแท้” และยังทรงพระราชนิพนธ์ละครพูดเรื่อง “เพื่อนตาย” ตามเค้าโครงภาษาอังกฤษด้วย

ย่าเหลเป็นสุนัขที่ฉลาดแสนรู้ และช่างประจบ คอยถวายความจงรักภักดีพระเจ้าอยู่หัวเสมือนเป็นทหารรักษาพระองค์ ทำให้เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่ง และด้วยเหตุนี้จึงสร้างความอิจฉาและเกลียดในหมู่ข้าราชบริพารบางคน หากข้าราชบริพารคนใดแต่งกายไม่เรียบร้อยก็จะถูกย่าเหลกัดต่อหน้าพระที่นั่ง สร้างความละอายและเจ็บแค้นแก่ผู้ที่ถูกกัดนั้นเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยลำพัง โดยมิได้นำย่าเหลไปด้วย จึงมีมหาดเล็กบางคนคอยทำร้ายเอาก็มี เล่ากันว่าย่าเหลชอบหนีออกไปเที่ยว เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงตามหาอยู่หลายครั้ง ในภายหลังทรงโปรดฯ ให้ทำป้ายแขวนคอ เขียนบอกว่า สุนัขตัวนี้เป็นสุนัขของพระเจ้าอยู่หัว ผู้ใดพบนำคืน จะได้รับพระราชทานรางวัล

ในปีที่ 5 ที่ย่าเหลเข้ามาเป็นสุนัขหลวงในพระราชวัง วันหนึ่งผู้ไปพบย่าเหลนอนตายข้างกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านวัดโพธิ์ ท่าเตียน มีรอยถูกปืนยิง ตามรูปการณ์เชื่อว่าคนที่ฆ่าย่าเหลต้องมิใช่มหาดเล็กธรรมดา เพราะผู้ที่มีปืนในสมัยนั้น จะต้องมียศฐาชั้นเจ้าคุณขึ้นไป หรืออาจเป็นชั้นเจ้านายก็เป็นได้ รัชกาลที่ 6 ทรงโทมนัสอย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพแก่ย่าเหล มีหีบใส่ศพอย่างดี ปิดทองที่มุมโลงและโปรดฯ ให้แกะสลักรูปย่าเหลวางไว้บนโลงด้วย ทั้งยังให้มหาดเล็ก แต่งตัวเป็นสัตว์นานาชนิดเข้าร่วมขบวนแห่ศพด้วย นอกจากนี้ยังมีของชำร่วยแจกในงานศพเป็นผ้าเช็ดหน้าพิมพ์รูปย่าเหล และมีตราวชิระที่มุมด้านขวา พระราชทานเป็นของที่ระลึกแก่ทุกคนที่ไปร่วมงานด้วย ( ขอบคุณข้อมูลจาก แหล่งการเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ )

ย่าเหล1

รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนไว้อาลัยแก่ย่าเหล จารึกไว้ที่ด้านข้างของอนุสาวรีย์ ดังนี้

อนุสาวรีย์นี้เตือนจิตร์ ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย
โอ้อาไลยใจจู่อยู่ไม่วาย กูเจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา
ยากที่ใครเขาจะเห็นหัวอกกู เพราะเขาดูเพื่อนเห็นแต่เป็นหมา
เขาดูแต่เปลือกนอกแห่งกายา ไม่เห็นฦกตรึกตราถึงดวงใจ
 
เพื่อนเป็นมิตร์ชิดกูอยู่เนืองนิตย์ จะหามิตร์เหมือนเจ้าที่ไหนได้
ทุกทิวาราตรีไม่มีไกล กูไปไหนเจ้าเคยเป็นเพื่อนทาง
ช่างจงรักภักดีไม่มีหย่อน จะนั่งนอนยืนเดินไม่เหินห่าง
ถึงยามกินเคยกินกับกูพลาง ถึงยามนอน ๆ ข้างไม่ห่างไกล
 
อันตัวเพื่อนเหมือนมนุษย์สุจริต จะผิดอยู่แต่เพียงพูดไม่ได้
แต่เมื่อกูใคร่รู้ความในใจ กูมองดูรู้ได้ในดวงตา
โอ้อกกูดูเพื่อนอยู่หรัด ๆ เพื่อนมาพลัดพรากไปไม่เห็นหน้า
กูเผลอ ๆ ก็เชง้อเผื่อเพื่อนมา เสียงกุกกักก็ผวาตั้งตามอง
 
อันความตายเป็นธรรมดาโลก กูอยากตัดความโศรกกระมลหมอง
นี่เพื่อนตายเพราะผู้ร้ายมันมุ่งปอง เอาปืนจ้องสังหารผลาญชีวี
เพื่อนมอดม้วยด้วยมือทุรชน เอารูปคนสรวมใส่คลุมใจผี
เป็นคนจริงฤาจะปราศซึ่งปรานี นี่รากษสอัปปรีปราศเมตตา
 
มันยิงเพื่อนเหมือนกูพลอยถูกด้วย แทบจะม้วยชีวังสิ้นสังขาร์
จะหาเพื่อนเหมือนเจ้าที่ไหนมา ช้ำอุราอาไลยไม่วายวัน
เมื่อยามมีชีวิตร์สนิทใจ ยามบรรไลยลับล่วงดวงใจสั่น
ด้วยอำนาจจงรักภักดีนั้น ขอให้เพื่อนขึ้นสวรรค์สำราญรมย์
 
ถึงจะมีหมาอื่นมาแทนที่ กูก็รักเพื่อนนี้เป็นปฐม
ที่ไหนเล่าจะสนิทและชิดชม ที่ไหนเล่าจะนิยมเท่าเพื่อนรัก
ถึงแม้จะไม่มีรูปนี้ไว้ รูปเพื่อนฝังดวงใจกูตระหนัก
แต่รูปนี้ไว้เป็นพยานรัก ให้ประจักษ์แก่คนผู้ไมตรี
 
เพื่อนเป็นเยี่ยงอย่างมิตร์สนิทยิ่ง ภักดีจริงต่อกูอยู่เต็มที่
แม้คนใดเป็นได้อย่างเพื่อนนี้ ก็ควรนับว่าดีที่สุดเอย

( ขอบคุณข้อมูลจาก แหล่งการเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ )

ที่บ้านเราก็เลี้ยงหมาเหมือนกัน เราเลยค่อนข้างเซ้นสิทีฟกับเรื่องนี้ ตอนอ่านกลอนนี้ครั้งแรกเราร้องไห้เลย เป็นกลอนที่เศร้ามาก คืออ่านแล้วสัมผัสได้ถึงความรักความผูกพันที่รัชกาลที่ 6 ทรงมีต่อย่าเหลจริงๆ 😥

DSC06226

DSC06227

พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นพระตำหนัก ๒ ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ของประเทศทางตะวันตก แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพาน จากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีฯ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีฯ สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้อง และติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน ตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ ในราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ (ขอบคุณข้อมูลจาก แหล่งเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ )

DSC06228

DSC06220

DSC06204

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ และฉนวนสะพานเชื่อมพระตำหนัก เป็นกลุ่มอาคารที่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง My Friend Jarlet ของ Arnold Golsworthy และ E.B. Norman ซึ่งทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยชื่อว่า “มิตรแท้“ โดยทรงนำชื่อตัวละครในเรื่อง มาเป็นชื่อของพระตำหนัก (ขอบคุณข้อมูลจาก แหล่งเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ )

DSC06217

DSC06216

DSC06222

DSC06221

พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไทยที่สมบูรณ์แบบ นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลป์) พระตำหนักทับขวัญประกอบด้วยกลุ่มเรือน ๘ หลัง ได้แก่ เรือนใหญ่ ๔ หลัง เรือนเล็ก ๔ หลัง ซึ่งได้สร้างให้หันหน้าเข้าหากัน ๔ ทิศ เรือนหลังใหญ่เป็นหอนอน ๒ หอ (ห้องบรรทมเป็นหอนอนที่อยู่ทางทิศใต้) อีก ๒ หลัง เป็นเรือนโถง และเรือนครัวซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนเรือนเล็ก ๔ หลังนั้นตั้งอยู่ตรงมุม ๔ มุมละ ๑ หลัง ได้แก่ หอนก ๒ หลัง เรือนคนใช้ และเรือนเก็บของ เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมกันโดยตลอด บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันไว้ให้ร่มเงา

พระตำหนักทับขวัญเป็นเรือนไม้กระดาน ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก ฝีมือประณีต เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม หลังคาแต่เดิมมุงด้วยจาก หลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา ตัวเรือนทุกหลังรวมทั้งพื้นนอกชานทำด้วยไม้สักล้วน ใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับของชาวไทยโบราณ รอบ ๆ บริเวณปลูกไม้ไทยชนิดต่างๆ นับเป็นเรือนที่อยู่ในประเภทเรือนคหบดี และมีส่วนประกอบครบ ( ขอบคุณข้อมูลจาก แหล่งเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ )

จบแล้วค่าาาา❤♡ จบในส่วนของโหมดสาระ เดี๋ยวตอนหน้าจะพาไปให้อาหารเป็ดแล้วก็ไปดูดอกไม้ในพระราชวังสนามจันทร์ค่ะ ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะคะ ^^ ตอนแรกคิดว่าจะลงรูปอย่างเดียวแล้วเขียนใต้ภาพว่าตรงนี้คือตำหนักอะไร พระที่นั่งอะไร เพราะถ่ายรูปมาเยอะมาก แต่ไหนๆก็ลงรูปมาแล้วก็เลยคิดว่าใส่เนื้อหาหน่อยดีกว่า ใส่ไปใส่มากลายเป็นว่าใส่เยอะเกินไปอีกก็เลยต้องแยกเป็น 2 ตอน เราหาเนื้อหามาจากหลายๆเว็บ ใส่เครดิตไว้ในแต่ละย่อหน้าแล้ว สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณเจ้าของเว็บทุกท่านอีกครั้งนะคะสำหรับข้อมูล ^^

ขอบคุณข้อมูลจาก พระราชวังสนามจันทร์ งามโรแมนติก // wikipedia // แหล่งเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ // แหล่งการเรียนรู้พระราชวังสนามจันทร์ // ประวัติ พระราชวังสนามจันทร์


Leave a comment